คำถามที่พบบ่อย

Q26: อีพีเอ และ ดีเอชเอ คืออะไร

A: อีพีเอ (EPA) และ ดีเอชเอ (DHA) เป็นกรดไขมันที่ได้จากโอเมก้า-3  โดยที่ อีพีเอ EPA ช่วยลดกระบวนการอักเสบในร่างกาย จึงช่วยลดความรุนแรงของโรคไขข้อรูมาตอยด์  และยังช่วยลด ลดไขมันเลว LDL และไตรกลีเซอไรด์ ซึ่งช่วยลดการสะสมของไขมันที่ผนังหลอดเลือด อันเป็นต้นเหตุสำคัญของโรคหลอดเลือดอุดตันส่วน ดีเอชเอ (DHA) ช่วยในกระบวนการพัฒนาระบบประสาท และการมองเห็น รวมทั้งช่วยชะลอความเสื่อมของระบบประสาทและสมองในผู้ใหญ่ได้อีกด้วย

Q25: ต้องรับประทานนานเท่าใดจึงจะเห็นผล และหากหยุดรับประทานจะกลับมาอ้วนหรือไม่?

A: กาแฟสเลนต้า บีลีน มีส่วนผสมของสารสำคัญที่ช่วยเกี่ยวกับการลดหรือควบคุมน้ำหนักตัว ไม่สามารถบอกได้ชัดเจนว่า ต้องรับประทานนานแค่ไหน จึงจะลดน้ำหนักลงได้ เพราะการลดน้ำหนัก มีปัจจัยที่เกี่ยวข้องหลายประการ โดยการรับประทานอาหารที่ทำให้ได้รับพลังงานมากกว่าที่ร่างกายจะใช้ไปต่อวัน ดังนั้นการดื่มกาแฟสเลนต้า บีลีน เพียงอย่างเดียว ไม่สามารถการันตีการลดน้ำหนักได้ตามที่คาดหวัง ผู้ที่ต้องการลดน้ำหนัก ควรได้มีโอกาสเรียนรู้ขั้นตอน และวิธีการลดน้ำหนักที่ถูกต้อง จึงจะสามารถได้ผลลัพธ์ที่ดี และไม่กลับมาอ้วนอีก

Q24: ใน 1 วัน สามารถดื่มกาแฟสเลนต้า บีลีน ได้กี่ซอง?

A: สเลนต้า บีลีน 1 ซอง  มีคาเฟอีน  21.3 มิลลิกรัม ซึ่งโดยปกติ คนเราสามารถดื่มกาแฟที่มีคาเฟอีนได้ไม่ควรเกิน 200 มิลลิกรัมต่อวัน

Q23: ไขที่เป็นตะกอนในเม็ดน้ำมันรำข้าวคืออะไร และมีผลต่อผลิตภัณฑ์หรือไม่

A: ตะกอนที่เกิดขึ้นในเม็ดน้ำมันรำข้าวเป็นไขข้าว ตามธรรมชาติ ซึ่งไม่มีผลต่อคุณภาพของผลิตภัณฑ์ ไขข้าวมีส่วนประกอบที่เรียกว่า โพลีโคซานอล (Policosanol) มีคุณสมบัติในการลดคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี (LDL) ไขที่เกิดขึ้นอาจมีจำนวนมากน้อยแตกต่างกัน ขึ้นกับรำข้าวที่นำมาสกัด

Q22: เราสามารถรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารโปรตีนแทนอาหารปกติได้หรือไม่ ?

A: ไม่แนะนำให้ทำเช่นนั้น เพราะเราควรบริโภคอาหารให้หลากหลายครบทั้ง 5 หมู่ การเลือกรับประทานโปรตีนเป็นเพียงทางเลือกหนึ่งที่ช่วยชดเชยโปรตีนที่เราได้รับไม่เพียงพอจากการรับประทานอาหารตามปกติเท่านั้น อย่าลืมว่าร่างกายยังจำเป็นต้องได้รับสารอาหาร แร่ธาตุ และวิตามินอีกหลายชนิด จากอาหารที่หลากหลาย เพื่อให้ระบบการทำงานของร่างกายเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

Q21: สำหรับผู้ที่ออกกำลังกาย ควรรับประทานโปรตีนเสริมเวลาใด เพื่อให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุด ?

A: โดยทั่วไปแนะนำให้รับประทานก่อนออกกำลังกาย 30 นาที หรือหลังออกกำลังกายภายใน 2 ชั่วโมง

Q20: หากเป็นผู้ที่ออกกำลังกาย หรืออยู่ระหว่างการเสริมสร้างกล้ามเนื้อควรรับประทานโปรตีนเสริมวันละเท่าไหร่ ?

A: หากเป็นการออกกำลังกายทั่วไป เพื่อดูแลสุขภาพ ก็ควรจะรับประทานโปรตีน 1 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม แต่หากเป็นนักกีฬา ผู้ที่เล่นเวท หรือนักเพาะกาย ที่ต้องการเสริมสร้างกล้ามเนื้อ ให้มีขนาดใหญ่ขึ้น ปริมาณที่แนะนำ คือ 1.5-2 กรัม ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม หรือประมาณ 2 เท่าของปริมาณโปรตีนปกติที่ควรได้รับต่อวัน เพราะร่างกายต้องการโปรตีนเพิ่มขึ้น เพื่อนำไปเสริมสร้างมัดกล้ามเนื้อที่แข็งแรงขึ้นนั่นเอง

Q19: หากต้องการรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมประเภทโปรตีน ควรรับประทานเวลาใดดีที่สุด ?

A: การรับประทานโปรตีนเสริม เราสามารถรับประทานได้เหมือนการรับประทานอาหารตามปกติ

Q18: คนที่ป่วยเป็นโรคไต สามารถรับประทานอาหารประเภทโปรตีนได้หรือไม่ ?

A: โดยทั่วไป ร่างกายของคนเราต้องได้รับโปรตีนทุกๆวันในปริมาณที่เพียงพอ และเมื่อเกิดการเผาผลาญหรือใช้โปรตีนในร่างกายแล้ว จะเกิดของเสียที่เราเรียกว่า ครีเอทินีน (Creatinine) และ สารยูเรียในเลือด (Blood Urea Nitrogen, BUN) ซึ่งสารทั้งสองชนิดนี้จะต้องถูกกำจัดออกทางไต ดังนั้น หากไตไม่สามารถทำงานได้ตามปกติก็จะเกิดการสะสมของสารทั้งสองชนิดนี้ในร่างกายจำนวนมาก จนเกิดปัญหากับระบบการทำงานของร่างกาย แต่ทั้งนี้ เนื่องจาก ผู้ป่วยโรคไตมีหลายชนิด ในผู้ป่วยโรคไตชนิดที่ไตเสียสภาพการทำงาน และไม่สามารถกำจัดของเสียได้ ผู้ป่วยจะต้องจำกัดการรับประทานอาหารโปรตีนในปริมาณที่พอเหมาะในแต่ละวัน แต่ในผู้ป่วยโรคไตประเภทที่ระบบการทำงานของไตเสียไปเช่นกัน แต่เป็นชนิดที่ไตมีการรั่วออกของโปรตีนจำนวนมากในแต่ละวัน ผู้ป่วยประเภทนี้ จำเป็นต้องได้รับปริมาณโปรตีนจำนวนมากชดเชยกับการสูญเสียของโปรตีนที่รั่วออกไป ดังนั้นการแนะนำวิธีรับประทานอาหารประเภทโปรตีนทั้งที่เป็นจากอาหารปกติทั่วไป หรือโปรตีนที่มาจากผลิตภัณฑ์เสริมอาหารในผู้ป่วยโรคไตจึงควรต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ผู้ให้การรักษาผู้ป่วยคนนั้นๆ จะเหมาะสมที่สุด

Q17: หากเราได้รับโปรตีนจากอาหารปกติไม่เพียงพอในแต่ละวัน เราควรรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมประเภทโปรตีนอย่างไร ?

A: เราควรเลือกรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารโปรตีนที่มีส่วนประกอบของแหล่งโปรตีนที่หลากหลายชนิด เพื่อให้ได้สัดส่วนของกรดอะมิโนที่ครบถ้วน และเหมาะสมโดยทั่วไปร่างกายต้องการโปรตีนวันละ 1 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม เช่น น้ำหนักตัว 50 กิโลกรัม ก็จะต้องการโปรตีน 50 กรัมต่อวันเป็นต้น หากในวันนั้นเราคำนวณดูแล้วพบว่า เราได้รับโปรตีนเพียง 42 กรัม เราก็ควรรับประทานเพิ่มอีก 8 กรัมเป็นต้น

Q16: ใช้ระยะเวลานานเพียงใดจึงจะเริ่มสังเกตเห็นว่าน้ำหนักเริ่มลดลง ?

A: โดยทั่วไปแนะนำให้เราชั่งน้ำหนักทุกวันเช้าและเย็น  การชั่งน้ำหนักตัวในตอนเช้า  หลังจากเข้าห้องน้ำแล้วจะเป็นน้ำหนักที่เราใช้เพื่อเปรียบเทียบตลอดระยะเวลา ในการลดน้ำหนักส่วนเกิน  ส่วนการชั่งน้ำหนักตัวในตอนเย็นจะสะท้อนให้เราเห็นว่า  เราสามารถควบคุมปริมาณอาหารที่บริโภคในแต่ละวันได้ในระดับที่น่าพอใจหรือไม่  สำหรับน้ำหนักในตอนเย็น  อาจมากกว่าน้ำหนักในตอนเช้าประมาณ 1 กิโลกรัม สำหรับในช่วงสัปดาห์แรกเราอาจจะยังไม่ค่อยสังเกตเห็นการเปลี่ยนแปลงของน้ำหนักตัวมากนัก  แต่หากเรายังคงมีวินัยและตั้งใจควบคุมให้ปริมาณพลังงานที่ร่างกายได้รับจากอาหารน้อยกว่าปริมาณพลังงานที่ร่างกายจำเป็นต้องใช้ในการประกอบกิจกรรมประจำวันอย่างต่อเนื่องแล้วเราจะเริ่มสังเกตเห็นการเปลี่ยนแปลงของน้ำหนักในสัปดาห์ที่ 2

Q15: น้ำหนักตัวของเราจะสามารถลดลงได้อย่างไร ?

A: น้ำหนักตัวจะลดลงเมื่อปริมาณพลังงานที่ร่างกายได้รับจากอาหาร น้อยกว่าปริมาณพลังงานที่ร่างกายต้องการใช้ในการทำกิจกรรมประจำวัน  ร่างกายสามารถชดเชยพลังงานส่วนที่ขาดโดยการสลายออกมาจากไขมันที่เก็บสะสมอยู่ในร่างกาย  โดยเฉลี่ยปริมาณพลังงานที่ได้รับลดลงทุก ๆ 5-7 กิโลแคลอรี จะทำให้น้ำหนักตัวลดลง 1 กรัม  ดังตัวอย่างต่อไปนี้

น.ส.สมศรี อายุ 25 ปี น้ำหนักตัว 60 กิโลกรัม ส่วนสูง 160 เซนติเมตร

คำนวณค่า BMR (ตามสูตร) ของน.ส.สมศรี

= 655+ (9.6x60) + (1.8x160) – (4.7 x 25) = 1,401.5 กิโลแคลอรีต่อวัน

กิจกรรมส่วนใหญ่ของน.ส.สมศรี คือ นั่งทำงาน และไม่มีการออกกำลังกายเลย ดังนั้น ร่างกายของ น.ส.สมศรี จะเผาผลาญพลังงาน  เท่ากับค่า BMR ของ  น.ส.สมศรี คูณกับตัวแปร 1.2 = 1,401.5 x 1.2 = 1,681.8 กิโลแคลอรีต่อวัน หาก น.ส.สมศรี รับประทานอาหารวันละ 3 มื้อ มื้อละเท่า ๆ กัน ร่างกายจะต้องได้รับพลังงาน 560.6 กิโลแคลอรีต่อมื้อ  ถ้า น.ส.สมศรี  รับประทานอาหารแล้วได้รับพลังงานเพียงมื้อละ 300 กิโลแคลอรี แสดงว่า น.ส.สมศรี ได้รับพลังงานจากอาหารน้อยกว่าพลังงานที่ร่างกายต้องการ 260.6 กิโลแคลอรีต่อมื้อ  หรือเท่ากับ 781.8 กิโลแคลอรีต่อวัน หากเป็นเช่นนี้ติดต่อกัน 10 วัน น.ส.สมศรี จะได้รับพลังงานน้อยลง7,818 กิโลแคลอรี  น้ำหนักของ น.ส.สมศรี ก็จะลดลง 1-1.5กิโลกรัม และหากเป็นเช่นนี้ติดต่อกัน 30 วัน น้ำหนักน้ำหนักของ น.ส.สมศรี จะลดลง 3-4.5 กิโลกรัม เป็นต้น  (คำนวณจากหลักการลดลงของพลังงานทุก ๆ  5-7 กิโลแคลอรี จะทำให้น้ำหนักตัวลดลง 1 กรัม)  การทำให้ปริมาณพลังงานที่ร่างกายได้รับจากอาหารน้อยกว่าปริมาณพลังงานที่ร่างกายต้องการใช้ในการประกอบกิจกรรมประจำวัน  สามารถทำได้หลายวิธี อาทิ ลดปริมาณการดูดซึมของสารอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรทหรือไขมัน , ลดปริมาณการเปลี่ยนคาร์โบไฮเดรทส่วนเกินไปเป็นไขมันสะสม, เพิ่มการเผาผลาญไขมันสะสม ไปเป็นพลังงาน  และลดความรู้สึกอยากอาหารที่มากเกินไป เป็นต้น

Q14: การรับประทานไฟเบอร์หรือเส้นใยที่เป็นอาหารเสริมจากอาหารปกติ สามารถทำได้ทุกวันหรือไม่ ?

A: สามารถทำได้ทุกวันแน่นอน โดยเฉพาะไฟเบอร์หรือเส้นใยอาหารที่มีส่วนผสมของน้ำตาลโมเลกุลขนาดใหญ่ เช่น โอลิโกแซคคาไรด์ เนื่องจากน้ำตาลชนิดนี้จะไม่ถูกย่อยและดูดซึมในลำไส้เล็ก จึงผ่านมายังลำไส้ใหญ่และเป็นอาหารแก่จุลินทรีย์ที่ดี ช่วยเพิ่มปริมาณของจุลินทรีย์ที่ดีในลำไส้ใหญ่ทำให้สภาพความสมดุลภายในลำไส้ใหญ่กลับคืนมา ช่วยลดอาการท้องเสีย ตลอดจนส่งเสริมระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ป้องกันการเกิดมะเร็งของลำไส้ใหญ่ ช่วยให้ระบบขับถ่ายเป็นปกติ ลดการสะสมของสารพิษที่ผนังลำไส้ และช่วยเพิ่มการดูดซึมแคลเซียมเข้าสู่ร่างกาย

Q13: การรับประทานไฟเบอร์ หรือเส้นใยอาหารก่อนอาหารมื้อหลักจะช่วยลดน้ำหนักได้หรือไม่ ?

A: การรับประทานไฟเบอร์ หรือเส้นใยอาหารชนิดละลายน้ำได้ก่อนอาหาร 30 – 60 นาที จะช่วยให้เรารับประทานอาหารในมื้อนั้นๆได้น้อยลง อีกทั้งไฟเบอร์หรือเส้นใยอาหารชนิดละลายน้ำได้จะช่วยดูดซับน้ำตาลและไขมัน ทำให้น้ำตาลและไขมันถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้น้อยลง และยังทำให้เรารู้สึกอิ่มเร็วขึ้น ทำให้เรารับประทานอาหารในมื้อนั้นได้น้อยลง ทำให้สามารถลดปริมาณพลังงานที่ร่างกายจะได้รับจากอาหาร จึงเป็นอีกหนทางหนึ่งที่จะช่วยให้การลดน้ำหนักได้ผลดียิ่งขึ้น แนะนำให้รับประทานไฟเบอร์ก่อนอาหารมื้อหลัก เช่น มื้อกลางวัน หรือมื้อเย็นที่เรามักจะรับประทานอาหารปริมาณมาก อย่างไรก็ตามถ้าหากเรายังคงรับประทานอาหารมากจนเกินไปในแต่ละมื้อ เราก็อาจรู้สึกอึดอัดหรือแน่นท้อง จึงควรรับประทานอาหารเพียงแค่รู้สึกพออิ่มเท่านั้น

Q12: การล้างพิษด้วยไฟเบอร์นั้นจะช่วยกระตุ้นให้ระบบขับถ่ายทำงานได้ทันทีหรือไม่ ?

A: การล้างพิษในลำไส้ใหญ่โดยการรับประทานไฟเบอร์จะต้องเป็นการล้างพิษที่ยังคงทำให้ระบบการทำงานของลำไส้ใหญ่เป็นไปตามปกติ หรือตามระบบขับถ่ายปกติของคนๆนั้น การที่จะทำให้เกิดการกระตุ้นให้ลำไส้ใหญ่บีบตัวเร็วขึ้น เพื่อให้เกิดการขับถ่ายอุจจาระทันทีที่รับประทานเข้าไป อาจมีผลทำให้ลำไส้ใหญ่เกิดความเคยชินเหมือนกรณีที่บางคนรับประทานยาถ่าย ซึ่งเป็นวิธีการล้างพิษในลำไส้ใหญ่ที่ไม่ถูกต้อง และส่งผลเสียต่อการทำงานของลำไส้ใหญ่ในระยะยาว การล้างพิษในลำไส้ใหญ่โดยการใช้เส้นใยอาหารที่ละลายน้ำได้จะสามารถดูดซับสารพิษในลำไส้ใหญ่และทำให้อุจจาระไม่แข็งจนเกินไป เราควรดื่มน้ำตามมากๆ เพื่อให้มีปริมาณน้ำเพียงพอในลำไส้ใหญ่ เนื่องจากน้ำที่ร่างกายได้รับจากอาหารและการดื่มน้ำหรือเครื่องดื่มจะเข้าสู่ร่างกายโดยการดูดซึมที่ลำไส้ใหญ่ มีเพียงบางส่วนที่ดูดซึมที่กระเพาะอาหารและลำไส้เล็ก ดังนั้นถ้าหากเราดื่มน้ำในแต่ละวันน้อยเกินไปและไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย น้ำก็จะถูกดูดซึมออกจากลำไส้ใหญ่ ทำให้การเคลื่อนตัวของอุจจาระช้าลง ระบบการขับถ่ายก็จะช้าลงด้วยจึงแนะนำให้ดื่มน้ำไม่น้อยกว่าวันละ 2 ลิตร เพื่อให้ระบบขับการถ่ายเป็นปกติ

Q11: เด็กอายุเท่าไหร่จึงสามารถรับประทานน้ำมันปลาได้ ?

A: DHA ในกรดไขมันโอเมก้า มีรายงานถึงการส่งเสริมการพัฒนาของสมองและประสาทตาในเด็ก โดยเฉพาะในเด็กทารกก่อนครบกำหนดคลอด 3 เดือน อย่างไรก็ตามในเด็กเล็กๆ ก็ควรแนะนำให้รับประทานอาหารให้ครบทั้ง 5 หมู่ ส่วนในเด็กที่มีอายุ 6 ขวบขึ้นไป ที่ต้องการเสริมปริมาณ DHA ก็สามารถรับประทานเสริมได้

Q10: ใครบ้างที่ไม่ควรรับประทานน้ำมันปลา ?

A: มีรายงานเกี่ยวกับการรับประทานน้ำมันปลาในผู้ป่วยเบาหวานชนิดไม่พึ่งอินซูลิน (Non – Insulin Dependent Diabetes Mellitus) ซึ่งพบว่าจะทำให้การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดไม่ค่อยดี ดังนั้น จึงไม่ควรแนะนำให้ผู้ป่วยเบาหวานชนิดนี้รับประทานน้ำมันปลา จนกว่าจะสามารถมีการควบคุมระดับน้ำตาลได้ดีแล้วเท่านั้น

Q9: การรับประทานกรดไขมันโอเมก้ามากเกินไปจะมีผลอย่างไรบ้าง ?

A: กรดไขมันโอเมก้า อาจทำให้เลือดแข็งตัวได้ช้า และหยุดไหลได้ยาก ดังนั้นผู้ที่จะเข้ารับการผ่าตัดหรือหญิงใกล้คลอด ควรงดการรับประทานน้ำมันปลาก่อนคลอดประมาณ 1 เดือน

Q8: คนที่แพ้อาหารทะเลจะสามารถรับประทานน้ำมันปลาได้หรือไม่ ?

A: การแพ้อาหารทะเล เกิดจากการแพ้สารอาหารประเภทโปรตีน ดังนั้น คนที่แพ้อาหารทะเล หรือแพ้ปลาทะเล จึงเกิดจากโปรตีน หรืออนุพันธุ์ของโปรตีนในปลา แต่น้ำมันปลาจัดเป็นสารอาหารประเภทไขมัน ไม่ใช่โปรตีน ดังนั้น คนที่แพ้ปลาทะเลก็ยังสามารถรับประทานน้ำมันที่สกัดมาจากปลาทะเลได้

Q7: จะรู้ได้อย่างไรว่าน้ำมันปลาที่จะรับประทานเสริมนั้นมีคุณภาพที่ดี ?

A: น้ำมันปลาที่มีคุณภาพดีนั้น นอกจากกระบวนการสกัดที่ได้รับการควบคุมการผลิตที่สะอาดปลอดภัยแล้ว สิ่งที่สำคัญ คือ สัดส่วนของอีพีเอต่อดีเอชเอที่เหมาะสม ควรอยู่ที่ 1.5 ต่อ 1

Q6: น้ำมันปลา กับ น้ำมันตับปลา เหมือนกันหรือไม่ ?

A: น้ำมันปลา ไม่ใช่ น้ำมันตับปลา เพราะน้ำมันปลาเป็นน้ำมันที่สกัดมาจากเนื้อและหนังปลา แต่น้ำมันตับปลา เป็นน้ำมันที่สกัดมาจากตับของปลา ดังนั้นในน้ำมันตับปลา จึงเป็นน้ำมันที่มี วิตามิน เอ และ วิตามิน ดี ส่วนในน้ำมันปลาเป็นน้ำมันที่มีกรดไขมันโอเมก้า

Q5: โคคิวเทน มีผลอย่างไรต่อผิวที่ขาวหรือไม่ ?

A: โคคิวเทน จัดเป็นสารกึ่งวิตามิน ที่มีฤทธิ์สำคัญคือช่วยในกระบวนการสร้างพลังงานให้แก่เซลล์ และยังมีฤทธิ์เป็นสารต้านอนุมูลอิสระอีกด้วย ดังนั้น ในเซลล์ที่ต้องการฟื้นฟูสภาพให้แข็งแรงและทำงานได้ดีจะต้องได้รับพลังงานมากเพียงพอต่อกระบวนการทำงานภายในเซลล์ และเซลล์ยังจะต้องได้รับการปกป้องจากการถูกทำลายโดยอนุมูลอิสระ ดังนั้น เมื่อโคคิวเทนทำงานประสานควบคู่กันกับสารที่ช่วยในการลดปริมาณการสร้างเม็ดสีผิว ก็จะช่วยให้ผิวดูขาวนวลใสขึ้นนั่นเอง

Q4: โคเอ็นไซม์ คิวเทน (Co-Enzyme Q10) คือ ?

A: โคเอ็นไซม์ คิวเทน จัดเป็นสารกึ่งวิตามินที่ละลายในไขมัน ซึ่งมีอยู่ในไมโตครอนเดียของเซลล์ที่ร่างกายมนุษย์เราสามารถสร้างขึ้นเองได้แต่เมื่ออายุเพิ่มมากขึ้นถึงช่วงวัยกลางคน ร่างกายก็จะสร้างโคเอ็นไซม์ คิวเทน ได้น้อยลง ทำให้คนในวัยนี้มีโอกาสที่จะขาดโคเอ็นไซม์ คิวเทน อาหารที่พบว่ามีโคเอ็นไซม์ คิวเทนได้แก่ ปลาทะเลน้ำลึก เช่น ปลาซาร์ดีน, ปลาแมคเคอเรล, ปลาทูน่า, เครื่องในสัตว์เฉพาะส่วนหัวใจและตับ ส่วนในพืชจะพบได้บ้างในถั่วลิสง และน้ำมันถั่วเหลือง

โคเอ็นไซม์ คิวเทน มีหน้าที่สำคัญในกระบวนการสร้างพลังงานภายในเซลล์โดยเฉพาะอวัยวะที่ต้องทำงานอย่างหนักและต่อเนื่องจะต้องการพลังงานจำนวนมากเป็นพิเศษ เช่น หัวใจ ตับ และไต เป็นต้น ดังนั้นจะเห็นว่าในอดีตหลายปีที่ผ่านมา ทางการแพทย์จะมีการใช้โคเอ็นไซม์ คิวเทนในการป้องกันโรคหัวใจ เพราะมีการศึกษาชี้ให้เห็นว่า โคเอ็นไซม์ คิวเทนจะช่วยยับยั้งไม่ให้คอเลสเตอรอลจับตัวเป็นก้อนแข็งในหลอดเลือด จึงช่วยลดปัญหาหลอดเลือดแข็งและการอุดตันของหลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงหัวใจได้ด้วย นอกจากนี้ยังมีการใช้โคเอ็นไซม์ คิวเทนในการป้องกันโรคสมองเสื่อม หรือ อัลไซเมอร์ รวมถึงโรคที่เกิดจากความเสื่อมหรือความชราอื่นๆ ด้วย เพราะโคเอ็นไซม์ คิวเทนมีฤทธิ์เป็นสารต้านอนุมูลอิสระอีกด้วยนั่นเอง

Q3: เด็กๆ สามารถรับประทานได้หรือไม่ ?

A: โดยทั่วไปจะไม่แนะนำให้เด็กที่มีอายุต่ำกว่า 6 ขวบ รับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร แต่ควรส่งเสริมให้เด็กรับประทานอาหารในแต่ละมื้อให้ครบ 5 หมู่ รวมทั้งการออกกำลังกาย เพื่อให้มีพัฒนาการเติบโตที่เหมาะสมตามวัย

Q2: เมื่อรับประทานสารอาหารเหล่านี้จะเห็นผลได้เมื่อไร ?

A: ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารไม่ใช่ยารักษาโรค ดังนั้นการรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจึงเป็นการเพิ่มเติมสารอาหารให้แก่ร่างกายตามความต้องการของผู้รับประทาน สำหรับผลลัพธ์ที่ได้ ให้สังเกตจากการเปลี่ยนของร่างกายของตนเอง เพราะร่างกายของคนเราจะตอบสนองต่อสารอาหารได้เร็วช้าแตกต่างกันไป

Q1: ใครที่ควรรับประทานสารอาหารเหล่านี้เพิ่มเติมบ้าง ?

A: ผู้ที่ไม่สามารถรับประทานอาหารในแต่ละวันได้ครบ 5 หมู่ และในปริมาณที่เพียงพอต่อการได้รับสารอาหารครบถ้วน หรือผู้ที่เริ่มสังเกตพบว่าผิวมีการเสื่อมสภาพเร็วกว่าปกติทั่วไป สีผิวหมองคล้ำไม่สม่ำเสมอ รวมถึงทั้งผู้ที่ต้องการดูแลให้ผิวดูอ่อนเยาว์และขาวนวลสดใส